mfg

รู้จักกับกล้อง total station (กล้องประมวลผลรวม)


แชร์ให้เพื่อน

รู้จักกับกล้อง total station (กล้องประมวลผลรวม)

กล้อง total station เป็นเครื่องมือที่ใช้งานเพื่อทำการสำรวจพื้นที่ก่อนทำการก่อสร้าง ซึ่ง กล้อง total station ใช้เพื่อสำรวจโครงการอะไรบ้าง อ่านได้จากที่นี่ครับ

วันนี้ เราจะมารู้จักกับกล้อง Total Stationกันมากขึ้น โดยผมขอหยิบยกบความจากเว็บของท่านที่มีความรู้เกี่ยวกับ กล้อง total station เป็นอย่างดี มาให้ท่านได้ลองศึกษากันครับ ข้อมูลจาก http://geomatics-tech.blogspot.com/

วันหยุดสุดสัปดาห์ ว่างๆ…ขออนุญาติหยิบยกเอาเรื่องกล้อง Total Station จากค่ายผู้ผลิตชั้นแนวหน้า (และรวมถึงแนวหลัง+แนวเนียนๆ) มาวิสาสะบอกเล่าเก้าสิบ เพื่อให้ท่านผู้อ่าน ได้เข้าใจกันพอสังเขป และอาจจะใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกซื้อกล้องโททอลสเตชั่น (กล้อง total station) เอาไว้ใช้งานกันครับ

หมายเหตุ: บทความทางด้านล่าง เป็นเพียงความคิดเห็น ‘ส่วนตัว’ (จากความรู้ และประสบการณ์การที่ได้คลุกคลี ตีโมงอยู่กับเครื่องมือสำรวจเหล่านี้ มากว่า 15 ปี) โดยมิได้มีส่วนได้ ส่วนเสีย กับทางบริษัทผู้ผลิตใดๆ ทั้งสิ้น และการติ-ชม หรือวิจารณ์ใดๆนั้น เป็นไปโดยสุจริต และเป็นธรรมกับทุกแบรนด์ที่สุดครับ

 

กล้อง total station

Leica (สวิตเซอร์แลนด์)

กล้อง total station ยี่ห้อ Leica
ชนชาวช่างสำรวจ แห่งสารขัณฑ์ประเทศของเรา ต่างรู้จักกล้องในชื่อยี่ห้อ Leica กันเป็นอย่างดี มีชื่อเสียงโด่งดัง สืบทอดมาตั้งแต่ยุคเจ้าคุณปู่อย่าง Heerburg (ชื่อเดิม) ซึ่งได้พัฒนากล้องธีโอโดไลท์ ในซีรี่ Wild ออกสู่ท้องตลาดงานสำรวจ มากมายหลายรุ่น อาทิ Wild T0, T1, T2 และ T16 เรื่อยมา จนมาถึงกล้องโททอล สเตชั่น (ขั้นเทพ) ในยุคปัจจุบัน

ในดินแดนสารขัณฑ์ ยุคแรกๆ (พ.ศ. 2541) ที่ยังไม่มีการ ก๊อปปี้/ลอกเลียนแบบ กล้องสำรวจ อย่าง ‘เป็นล่ำเป็นสัน’ จาก ‘ชนชาวมณฑลเสิ่นเจิ้น’ นั้น เป็นยุคที่เมื่อมองไปในงานสำรวจภาคสนามใดๆ ก็มักจะพบเห็นกล้องยี่ห้อ Leica ดังกล่าว (ตัวอ้วนๆ สีเขียวๆ) ถูกใช้งานอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาฯเอกชน (ส่วนหน่วยงานราชการ กลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก…แล ปัญหาเรื่องจัดซื้อ จัดจ้าง?) โดยรุ่นที่เป็นที่นิยมในยุคดังกล่าว คือ กล้อง ในซีรี่ TCxxx ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ ถึงความ อึด ทน ลุย (วัสดุที่ใช้ผลิตตัวกล้อง อยู่ในขั้นดีเยี่ยม (แข็งสุดๆ และมีบางรุ่นทำด้วยโลหะ)) และข้อมูลการสำรวจรังวัดที่ได้มานั้น มีความถูกต้อง แม่นยำ อยู่ในเกณฑ์สูง

แต่…การที่กล้องสำรวจยี่ห้อดังกล่าว ถูกวางจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างแพง (มาก) ถ้าเทียบกับกล้องสำรวจยี่ห้ออื่นๆ ในสเป๊ก/ออปชั่น เดียวกัน ซึ่งเหตุผลทางด้าน ‘ราคา’ คือตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้กล้อง Leica ทำการตลาดในดินแดนสารขัณฑ์ได้น้อยลงๆ ตามลำดับ (แต่ยังไม่เลือนหายไป)…แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นที่รับทราบ และเข้าใจกันดีในหมู่ชนนายช่างสำรวจแห่งสารขัณฑ์ ว่า ‘ผู้ใดก็ตาม’ ที่กำลังยืนอ่านกล้อง ยี่ห้อ Leica หรือมีกล้องยี่ห้อดังกล่าวไว้ใช้งานนั้น มักจะได้รับการยกย่อง ว่า ‘เทพ’ มากกว่าการยืนส่องกล้องยี่ห้อตลาดๆ…อารมณ์ประมาณว่า คนขับรถ BMW เปรียบเทียบกับคนขับรถยี่ห้อตลาดๆ อย่างโตโยต้า อะไรประมาณนั้น

* กล้องโททอลสเตชั่น ยี่ห้อ Leica ในยุคแรกๆนั้น รูปร่างหน้าตา ทรวดทรงองค์เอว หลายๆรุ่น ‘เหลี่ยมได้ใจ’ ส่วนรุ่นหลังๆในยุคต่อมา การออกแบบ มีความโค้งมนสวยงามมากขึ้น อีกทั้งการถูกเพิ่มออปชั่น+เทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ เข้าไปนั้น (มีราคาเฉียดล้าน หรือราคาเกินล้านบาทขึ้นไป ทั้งนั้น) แบบครบชุดทุกออปชั่น ผู้เขียนเคยเห็นเฉพาะในบางมหาวิทยาลัย (เอกชน) และบริษัทสำรวจก่อสร้าง ในกลุ่มปิโตรเลียม (พวกที่มี เงินถุง เงินถัง)
* สารขัณฑ์ประเทศของเรา (พ.ศ. 2554) ยัง ‘ไม่มี’ ศูนย์ Leica (ขาย+ซ่อม) อย่างเป็นทางการ…และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ทางด้านการตลาด ที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนักในดินแดนแห่งนี้

ข้อดีของกล้อง Total station ยี่ห้อ Leica
1. มีการใช้ที่นิยมมาก
2. เชื่อถือได้ในยี่ห้อ และความมียาวนาน

ข้อเสียของกล้อง Total station ยี่ห้อ Leica
1. ราคาค่อนข้างแพงมาก ซึ่งหากไม่ใช่บริษัทที่ร่ำรวย ก็อาจจะต้องเลือกยี่ห้ออื่นเพื่อใช้งาน
2. ศูนย์ซ่อมหรือดูแล ยังหายาก และมีคนที่สามารถซ่อม ยังน้อยอยู่

 


 

Topcon (ญี่ปุ่น)

กล้อง Total Station ยี่ห้อ Topcon 
เป็นที่อึกกระทึกครึกโครม กันเลยทีเดียวเชียว สำหรับตลาดกล้องสำรวจ ในสารขันธ์ประเทศ ณ พ.ศ. 2554 ต้องยกให้ยี่ห้อ Topcon ซึ่งครองตลาดกล้องสำรวจ อยู่ ณ ขณะนี้ โดยมีการวางขายกล้องสำรวจ เหมือนกับรุ่นของมือถือ (เยอะจริงๆ) หลากหลายซีรี่ หลายรุ่นย่อย หลายออปชั่น เอาแค่กลุ่ม GTS กับ GPT ก็แตกรุ่น เป็นซีรี่ย่อยๆ ออกไปอีกมากมาย สนนราคาจำหน่ายในระดับกลางๆ ไปถึงระดับลมบน (Hi-End) โดยราคาค่างวดนั้น ว่ากันไปตามความละเอียด+ออปชั่น …บางรุ่นก็อึด ทนดีจริงๆ ส่วนบางรุ่นก็ต้องประคบ ประหงมกันอย่างดี วัสดุที่ใช้ผลิตตัวกล้อง ทนดีมากครับ ใครที่เคยถอดกล้อง Topcon แยกชิ้นส่วนออกมา แล้วลองนำไปเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ ‘ชิ้นต่อชิ้น’ จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน (วัสดุที่ใช้ผลิตแข็งจริงๆ แม้แต่พลาสติกตรงหน้าปัด) โดยภาพรวมแล้ว วัสดุที่ถูกนำมาใช้ประกอบตัวกล้อง อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม

Topcon ถือเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่ง ในซีกโลกตะวันออก (เหนือกว่า ยี่ห้อ Sokkia เล็กน้อย) ในเรื่องการผลิตอุปกรณ์สำรวจรังวัด ที่มี ‘คุณภาพสูง’ และด้วยเหตุผลทางด้านราคากลางๆ (2-3 แสนบาท) สำหรับกล้องในซีรี่ GTS (พิมพ์นิยม) ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ว่า มองไปที่สนามสำรวจไหนๆก็เจอแต่กล้อง Topcon ซีรี่ GTS ‘ตัวเหลืองๆ’ เต็มไปหมด (แม้แต่ในหน่วยงานของผู้เขียน O_O) โดยมี ซีรี่ GPT มาสอดแทรกบ้างเล็กน้อย
* Topcon มีศูนย์ (ขาย+ซ่อม) อย่างเป็นทางการอยู่ในประเทศไทย Link
* จะมีใครรู้ไหมว่า ในอดีตนั้น Topcon แตกไลน์ทางธุรกิจ ออกมาจากบริษัทผู้ผลิตนาฬิกายี่ห้อ SEIKO


 

Sokkia (Sokkisha) (ญี่ปุ่น)

กล้อง total station ยี่ห้อ Sokkia
(มีผู้คนจำนวนไม่น้อย พากันเข้าใจว่าเป็นยี่ห้อ จากประเทศเกาหลีใต้)

ถือเป็นยี่ห้อ ‘แรกสุด’ ทางด้านการผลิตอุปกรณ์สำรวจรังวัด ของประเทศญี่ปุ่น (ถึงปัจจุบันก็กว่า 90 ปีแล้วครับ…ถือกำเนิดก่อน Topcon ประมาณ 10 ปี) เริ่มตั้งแต่ยุคกล้องทรานสิท และกล้องธีโอโดไลท์ เรื่อยมา จนถึงยุคกล้องโททอล สเตชั่น…และถึงแม้จะเป็นยี่ห้อที่มีความเก่าแก่ มีอดีตยาวนาน แต่ว่าในบ้านเรากลับไม่ได้รับความนิยมมากนักในยุคแรกๆ (ยุคแรกๆ ในความหมายของผู้เขียน คือ ยุคที่เริ่มเปลี่ยนจากการใช้กล้อง Theodolite+EDM มาเป็นกล้องประเภทประมวลผลรวม หรือกล้องโททอล สเตชั่น) โดยกล้อง Sokia เพิ่งจะมาได้รับความนิยมในหมู่ช่างสำรวจรังวัดชาวสารขันฑ์ (ชื่อติดหู) ในช่วงที่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่ง ที่คุณก็รู้ว่าหน่วยงานใด ‘ล๊อกสเป็ก’ (ว่าตามข่าว) โดยมีการจัดซื้อ จัดจ้างกล้องยี่ห้อดังกล่าว เข้ามาใช้ในหน่วยงานเป็นจำนวนมาก (กระจายไปในหน่วยงานทั่วประเทศ)

สำหรับคุณภาพการใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่ม SETxxx ทั้งหลายนั้น มันก็ลุยดีเหมือนกันครับ แต่ผู้เขียนรู้สึก (ส่วนตัว) ว่าวัสดุที่ใช้ทำตัวกล้องบางรุ่น (เข้าใจว่าเป็นพลาสติกชนิดคาร์บอนอัลลอยด์แข็ง)…แต่รู้สึกว่ามันจะไม่แข็งเท่า Topcon?) มันจะไม่ทนเท่าไหร่ โดยเฉพาะตัว Tribatch หรือฐานกล้อง ใครที่เคยใช้ Sokkia นานๆ จะรู้ว่าตรงตัวที่หมุนล๊อคกล้อง มันมักจะหลวมง่าย ต้องคอยขันน๊อตกันอยู่เรื่อยๆ (บางทีน๊อต หล่นตกหายไปเองก็มี…รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาภายหลัง อาจจะแก้จุดบกพร่องตรงนี้ แล้วก็เป็นได้?)…ส่วนเรื่องราคา ถ้าเปรียบเทียบกับยี่ห้อ Topcon โดยมีความละเอียด+ออปชั่น ที่เท่ากันทุกอย่าง ราคาของ Sokkia จะถูกกว่านิดหน่อย ครับ (พ.ศ. 2554)


Trimble (สหรัฐอเมริกา)

กล้อง total station ยี่ห้อ Trimble
ไม่กล่าวถึง กล้องยี่ห้อระดับโลกอย่าง Trimble คงจะไม่ได้ สำหรับกล้องที่ใครๆ ต่างพากันซี๊ดปาก บอกว่า นี่คือยี่ห้อ ‘ขั้นเทพ’ ชัดๆ…ไม่ใช่เพราะ การมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเก่าแก่อะไรมากมายนัก แต่ที่ ‘ขั้นเทพ’ ผู้เขียนเข้าใจว่า อาจจะเป็นเพราะ ‘มีราคาที่แพงมาก’ (ตั้งแต่กล้องระดับ ไปจนถึงอุปกรณ์รังวัดดาวเทียม GPS) ถ้าเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ ในสเป็คเดียวกัน

Trimble เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน โดยเริ่มมีชื่อเสียงมาจากการพัฒนาระบบดาวเทียมนำร่อง (ระบบ GPS) ให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในยุคแรกๆ ถัดจากนั้นมา ก็ผลิตอุปกรณ์สำรวจสู่ท้องตลาด…Trimble เป็นยี่ห้อแรก ที่บุกเบิกการนำเอาเทคโนโลยี GPS ติดเข้าไปในตัวกล้องโททอล สเตชั่น และทำให้กล้องสามารถสื่อสารกับ อุปกรณ์รังวัดดาวเทียม RTK-GPS ของตนเองได้ (แต่ข่าวการพัฒนารั่วออกมาหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ฝั่ง Leica ไปจับ GNSS (หลายระบบ) มาติดบนหัวกล้องก่อน วางขายทำตลาดก่อน สบายใจเฉิบ)…สำหรับผู้เขียน เคยเห็นกล้อง Trimble ตัวเป็นๆในงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีการสำรวจในต่างประเทศครับ ส่วนในบ้านเราไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ ซักที (พ.ศ. 2554)


Pentax (ญี่ปุ่น)

กล้อง total station ยี่ห้อ Pentex ได้รับความนิยมมากในบ้านเรา
(มีผู้คนจำนวนไม่น้อย พากันเข้าใจว่าเป็นยี่ห้อ จากประเทศทางยุโรป)

ถือเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง ที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานพอสมควร (กว่า 75 ปีถึงปัจจุบัน) แตกไลน์มาจากกลุ่มบริษัท Asahi และมาควบรวมกิจการกับบริษัทผู้ผลิต เลนส์ ยี่ห้อ Hoya (เลนส์แว่นตาชื่อดังของญี่ปุ่น) และต่อมาภายหลัง Ricoh (เครื่องถ่ายเอกสาร/ปรินท์เตอร์) มาซื้อกิจการในส่วนของ Pentax ไปจาก Hoya

ในสารขันฑ์ประเทศของเรา ผู้เขียนเห็นมีผู้ใช้กล้องยี่ห้อดังกล่าว ‘แบบน้อยราย’ ส่วนประเทศที่ผู้เขียนได้ยินมาจากอาจารย์ (ของผู้เขียน) ชาวบังคลาเทศ ว่าเป็นยี่ห้อยอดนิยม ของหมู่ชนชาวช่างสำรวจที่นั่น คือที่ ‘ประเทศอินเดีย’ ครับ…เขาออกเสียงว่า ‘เปนแต็ก’


Nikon (ญี่ปุ่น)

กล้อง total station ยี่ห้อ Nikon 

เป็นอีกหนึ่งยี่ห้อที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 80 ปี มีชื่อเสียงในเรื่องของเลนส์ และกล้องถ่ายรูปในยุคแรกๆ…สำหรับในประเทศสารขันธ์บ้านเรา เท่าที่ผู้เขียนได้พบเห็นตามโครงการฯ/ไซด์งานต่างๆ กล้องยี่ห้อดังกล่าว มีใช้กันอยู่บ้างพอสมควร และตัวผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น มีรุ่นเก่าเก็บอยู่ 1 ตัว (แต่ไม่แตะต้องมาหลายปี เข็ดจริงๆ) ครับ…สรรพคุณของ กล้อง Nikon ในรุ่นแรกๆ (ซีรี่ DTM) อย่างเดียวที่บอกได้เลย คือ…ตัวกล้องมันโคตรหนัก (ไม่รู้ว่ามันใส่เหล็ก ใส่หินเพื่อถ่วงน้ำหนักหรืออย่างไรกัน) เอาแค่แบตเตอรี่ตรงด้ามจับ น่าจะ 2 กิโลกรัมได้


GeoMax (สวีเดน)
ค่อยๆ รุกคืบ ทำตลาดกล้องโททอล สเตชั่น ในดินแดนสารขัณฑ์ของเราอย่าง ‘เงียบๆ เชียบๆ’ ด้วยจุดแข็งในการจำหน่าย นั่นคือ ‘ของแท้’ Made in Switzerland (ผู้เขียนเคยถามผู้นำเข้ามาจำหน่ายรายหนึ่ง ว่า ‘มันคือกล้อง Leica ใช่มั้ย?’…แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ‘ไม่ใช่ มันคนละยี่ห้อกัน แต่ผลิตที่สวิสเซอร์แลนด์เหมือนกัน’

 


Stonex (อิตาลี)
ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ (ที่สลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน?)…ผลิตภัณฑ์ของ Leica (+หน้าตา GeoMax) ได้มาปรากฎตัวอีกครั้ง ภายใต้แบรนด์ใหม่ สีสันใหม่ (เหล้าเก่า ในขวดใหม่)…หงายเงิบ กันเลยทีเดียว
* ยังไม่เป็นที่ปรากฎตัวต่อสาธารณะชน ในดินแดนสารขัณฑ์ของเรา

Focus/Spectra (สหรัฐอเมริกา)
ร่างอวตาร ของกล้อง Trimble ภายใต้แบรนด์ Focus (Spectra) ซึ่งมีที่มา-ที่ไปในเชิงธุรกิจ ที่ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจเช่นกัน ด้วยเหตุผลในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งมิได้มี Trimble ที่แปลงร่างมาเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ของ Nikon เข้ามาร่วมแจมด้วย


ประเทศจีน
ผลิตภัณฑ์จากมณฑลเซินเจิ้น, กวางซู ฯลฯ’ อีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ที่มี เบี้ยน้อย หอยน้อย
>> ชนชาวเรารับทราบ และเข้าใจกันเป็นอย่างดี สำหรับคุณภาพของสินค้าที่มาจาก ‘ประเทศจีน แผ่นดินใหญ่’ หรือ Made In China แท้ๆ ว่าคุณภาพของตัวสินค้านั้น เป็นเช่นไร รวมถึงการ ‘นิยมชมชอบ’ ในการก๊อปปี้ ลอกเลียนแบบ ฯลฯ ตัวสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชั้นนำ ทั่วโลก…ฉันใด ก็ฉันเพล กล้องโททอล สเตชั่น ก็เป็นหนึ่งสินค้าที่หาได้รอดพ้นสายตา ‘ชนชาวเซินเจิ้น’ ไปไม่…โดยกล้องยี่ห้อ Topcon ในซีรี่ GTS-xxx คือผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปใช้เป็น ‘ตัวต้นฉบับ’ มากที่สุด และตามด้วยผลิตภัณฑ์ของ Leica และ Nikon (ยังไม่พบเห็นสินค้าเลียนแบบยี่ห้อ Sokkia ณ พ.ศ. นี้)
* ไม่เกี่ยวกับกรณีที่บริษัทฯ (ของแท้) ไปเปิดโรงงานผลิตสินค้า (ของแท้) ในประเทศจีน ด้วยเหตุผลในเรื่องต้นทุนการผลิต)
* ไม่เกี่ยวกับกรณีการร่วมทุนทางธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกับยี่ห้อกล้องชั้นนำ ข้างต้น

รูปทรงพื้นฐาน ของตัวกล้อง Topcon ในซีรี่ GTS
(กรุณาจดจำคุณลักษณะต่างๆของ ‘ของแท้’ ตามภาพข้างต้นไว้ให้ขึ้นใจ)
>> ผู้เขียน เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ใช้งานกล้อง Topcon ในซีรี่ GTS และ GPT อยู่หลายรุ่น ซึ่งการใช้งานกล้อง Topcon ในซีรี่ดังกล่าวนั้น ตัวเมนู/ออปชั่น แทบจะเหมือน/หรือคล้ายกันมาก (อาจจะแตกต่างเล็กน้อย ในซีรี่ GPT-700) การได้ใช้งาน (รวมถึงการถอด และประกอบ) และการได้ใกล้ชิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกับกล้อง ‘ของแท้’ ทำให้สามารถ ‘จำแนก แยกแยะ’ ระหว่าง ของจริง/ของเทียม (+ของเทียบ) โดยมีหลักการจำแนกหลักๆ ระหว่าง ‘ของจริง และของเทียม’ ดังนี้
1. รูปทรง การออกแบบ อาทิ ตัวล๊อคแกนราบ-แกนดิ่ง, กล้องส่องเล็งหัวหมุด
2. แกนกล้องเล็ง และอุปกรณ์ส่วนควบ อาทิ วงแหวนปรับความคมชัด
3. หน้าจอ และปุ่มกด
4. เมนู/ออปชั่น
5. ฐานกล้อง (Tribatch)


Horizon (จีน) หรือ CST/berger (วางจำหน่ายในยุโรป)

กล้อง total station ยี่ห้อ CST หรือ Horizon ได้รับความนิยมในบ้านเรา
เปิดตัวในสารขันฑ์บ้านเรา ด้วยราคาที่กระชากใจ ‘ราคาลดลงกว่า ครึ่งต่อครึ่ง’ แถมด้วยออปชั่นไร้เป้าสะท้อน (Reflectorless) และโปรแกรมเสริมอื่นๆ เข้าไปด้วย ซึ่งแม้แต่ตัวต้นฉบับ ก็ยังไม่มีออปชั่นดังกล่าว…ท่านใด ที่เคยใช้งานกล้อง Topcon ในซีรี่ GTS ท่านจะรู้สึกไม่เคอะเขิน เมื่อเปลี่ยนมาจับกล้อง Horizon เพราะเมนูการใช้งาน ‘เหมือนกัน’…ผู้เขียนมีกลุ่มเพื่อนที่ยังใช้งานเจ้ากล้อง Horizon อยู่หลายท่าน ซึ่งได้เนื้องาน ไว้ใจได้เหมือนกันครับ แต่เพื่อนมันแอบบ่น ในเรื่องของวัสดุที่ใช้ผลิตตัวกล้อง ซึ่งผู้เขียนไม่ขอออกความเห็น (บอกแค่ว่า ‘เป็นไปตามราคา’)

ท่านใดที่สังเกตนักสำรวจที่มาจากจีน กล้องยี่ห้อนี้ล่ะครับ ที่ชนพวกนี้ชอบเอาติดตัวมาใช้งานด้วย (ผู้เขียนเคยพบเห็นบ่อยๆในประเทศลาว…พวกคนจีนเอากล้องมาใช้สำรวจแนวถนน…2 เดือนถัดมา ถนนก็พัง (หน้าสนามกีฬาซีเกมส์)…อันนี้ไม่เกี่ยวกับกล้องครับ แต่เป็นคุณภาพถนนของพี่จีน…ชาวจีนต่างพากันบอกอย่างภาคภูมิใจครับว่า ‘เมดอิน ไชน่า’ แท้ๆ ครับ ‘ไม่ลอกเลียนแบบใคร’…กรรม เป็นเครื่องชี้เจตนา ครับ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://geomatics-tech.blogspot.com/

#กล้อง total station #กล้องสำรวจ

แชร์ให้เพื่อน