ทินเนอร์ (Thinner)

แชร์ให้เพื่อน

ทินเนอร์ (Thinner)

ทินเนอร์ (Thinner)

สวัสดีครับ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในวงการช่างจำนวนมาก อย่างช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างสี งานสีรถยนต์ งานประดิษฐ์ หรือแม้แต่ใช้เป็นเครื่องประทินโฉมในรูปแบบสีทาเล็บหรือน้ำยาล้างเล็บ นั้นคือ “ทินเนอร์​” นั่นเอง วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับทินเนอร์มากขึ้น ว่าทินเนอร์คืออะไร ใช้งานยังงัย และมีประโยชน์หรือโทษอย่างไรกันบ้าง

ทินเนอร์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ระเหยง่ายหลายชนิดผสมกัน มีลักษณะเป็นของเหลวใส ระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับละลาย และเจือจางสี น้ำยาเคลือบเงา เพื่อลดความหนืด และเจือจางให้สีเหมาะ และง่ายต่อการใช้งาน

 

ลักษณะทั่วไป
1. เป็นของเหลวใสไม่มีสี คล้ายน้ำ หรือสีเหลืองอ่อน
2. มีความถ่วงจำเพาะ 0.835 ถึง 0.845
3. จุดวาบไฟ ประมาณ -8.9 องศาเซลเซียส
4. ไม่มีตัวทำละลายที่เป็นพิษ เช่น เบนซีน (benzene) เมทานอล (methanol) และคลอริเนเตดไฮโดรคาร์บอน (chlorinated hydrocarbon)
5. เมื่อระเหยหมดจะไม่มีคราบน้ำมัน ระเหยง่าย หากวางทิ้งไว้ จะระเหยจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว
6. มีความเป็นกรดไม่เกิน 0.3
7.มีกลิ่นฉุน และมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์

 

ส่วนประกอบของทินเนอร์
ทินเนอร์ ตามมาตรฐาน มอก. กำหนดให้มีองค์ประกอบของตัวทำละลาย 4 ชนิด คือ ได้แก่ คีโตน แอลกอฮอล์ อีเทอร์ และสารไฮโดรคาร์บอน โดยจะผสมสารเคมีในกลุ่มต่างๆในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน เช่น
1. คีโตน (Ketone) 18%
2. แอลกอฮอล์ (Alcohol) 8%
3. อีเทอร์ (Ester) 3%
4. สารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) 71% เช่น ไซลีน โทลูอีน เป็นต้น

ตามมาตรฐาน มอก. จะกำหนดส่วนผสม ดังนี้
– ไซลีนหรือโทลูอีน ต้องไม่เกินร้อยละ 60
– เอสเทอร์ และคีโตน รวมกันไม่น้อยร้อยละ 30
– แอลกอฮอล์ ไม่เกินร้อยละ 10

ชนิดของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบทั่วไป
– โทลูอีน (Toluene) สูตร C7H8
– เมทธิลเอทธิลคีโตน (Methyl Ethyl Ketone) สูตร C4H8O
– อะซิโตน (Acetone) สูตร C3H6O
– เอทิล อะซิเตต (Ethyl Acetate) สูตร C4H8O2
– ไอโซบิวทิลแอลกอฮอล์ (Isobutyl Alcohol) สูตร C4H10O
– ไอโซโพรพานอลแอลกอฮอล์ (Isopropanol Alcohol) สูตร C3H8O
– เมทิลอัลกอฮอล์ (Methanol) สูตร CH4O
– นอร์มอลบิวทิลอะซิเตท (Normal Butyl Acetate) สูตร C6H12O2
– เอทิลไกลคอลอะซิเคท (Ethylglycol Acetate) สูตร C6H12O3
– ไอโซโพรพิลอะซิโตน (Isopropyl Acetone) สูตร C6H12O
– ไซลีน (Xylene) สูตร C8H10

 

ประโยชน์ และการใช้งาน

ทินเนอร์ เกรดสูง AAA
ทินเนอร์คุณภาพ มีประสิทธิภาพในการทําละลายสูง ป้องกันการเกิดฝ้าให้ความเงางามสูง เหมาะสําหรับงานอุตสาหกรรมทั่วไป สีพ่น สีรองพื้น งานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ ใช้งานง่าย แห้งเร็ว 

 

ทินเนอร์สำหรับผสมสี
ผู้ผลิตสีส่วนใหญ่จะทำการผลิตสีให้มีความหนืดที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการนอนก้นแข็งในภาชนะบรรจุขณะส่งมอบหรือเก็บไว้ในคลังสินค้า ซึ่งเป็นความหนืดที่ไม่เหมาะจะใช้พ่นหรือทาได้ ดังนั้นผู้ผลิตสีจึงได้ทำการคิดค้นทำสูตรทินเนอร์ ที่ใช้เติมเจือจางสีชนิดนั้นๆ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นทินเนอร์ต่างๆ ตามประเภทของสีดังนี้

 

ทินเนอร์สำหรับเติมเจือจางสีแลคเกอร์ 1K
ในท้องตลาดมักจะเรียกว่าทินเนอร์แลคเกอร์ ซึ่งเป็นทินเนอร์ที่มีส่วนผสมของตัวทำละลาย (Solvent) ที่สามารถทำละลายสีแลคเกอร์ได้ดี ได้แก่ กลุ่ม เอสเตอร์ (Ester), คีโตน (Ketone), อะโรมาติก (Aromatic), แอลกอฮอล์ (Alcohol) และอีเทอร์ (Ether) ปกติแล้วผู้ผลิตจะออกแบบการทำละลายและการระเหยที่เหมาะสม เพื่อให้ได้คุณภาพงานสีที่ดีประหยัดเวลาการทำงานของช่าง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาละอองสีบนผิวงาน (Overspray)

 

ทินเนอร์สำหรับเติมเจือจางสีแอลคิดหรือสีน้ำมันแห้งช้า
หรือที่เรียกกันว่าทินเนอร์ไวท์สปีริต (White spirit) หรือน้ำมันสน หรือน้ำมันชักแห้ง ผลิตจากตัวทำละลาย (Solvent) กลุ่มไฮโดรคาร์บอน ทำละลายสีน้ำมันแอลคิดได้ดีแห้งช้า เหมาะกับงานพ่น งานกลิ้งและงานทาด้วยแปรง

 

ทินเนอร์สำหรับเติมเจือจางสีแลคเกอร์ 2K
มักจะเรียกกันในท้องตลาดว่าทินเนอร์ 2K โดยส่วนผสมหลักจะเป็นตัวทำละลายกลุ่มเอสเตอร์ (Ester) ที่มีค่าความชื้นต่ำหรือยูริเทนเกรด, อะโรมาติก (Aromatic) และคีโตน (Ketone) ส่วนใหญ่จะผลิตเป็น 3 ระดับการแห้งตัว คือ ทินเนอร์ 2K ชนิดแห้งเร็ว (2K PU Thinner Fast), ทินเนอร์ 2K ชนิดแห้งปานกลาง (2K PU Thinner medium slow) และทินเนอร์ 2K ชนิดแห้งช้า (2K PU Thinner Slow) เพื่อเป็นทางเลือกให้ช่างสีได้เลือกใช้ทินเนอร์ที่เหมาะกับงานและสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศในหน้าร้อนจะเหมาะกับ Thinner PU03 Slow ซึ่งเป็นทินเนอร์ 2K แห้งช้า ที่มีการควบคุมค่าความชื้น และมีอัตราการระเหยของตัวทำละลายที่สมดุล ช่วยให้ฟิล์มแลคเกอร์เรียบขึ้น เป็นต้น

การเลือกทินเนอร์เพื่อผสมแลคเกอร์ 2K ควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากในงานสีพ่นรถยนต์ที่เคลือบด้วยแลคเกอร์ 2K นั้นจะเน้นเรื่องความเงาฉ่ำและความทนทานต่อแสงยูวี การผสมทินเนอร์ผิดประเภทหรือมีสิ่งปนเปื้อนอาจจะทำให้ฟิล์มสีผิดปกติ เช่น เป็นหลุม (Crater), ตาปลา (Fish eye) เป็นต้น และหากทินเนอร์ที่ใช้มีความชื้นสูงจะทำให้แลคเกอร์มีอาการเป็นฝ้าไม่เงาเท่าที่ควร

 

ทินเนอร์สำหรับเติมเจือจางสีอีพอกซี
ทินเนอร์อีพอกซีเป็นทินเนอร์ที่ประกอบด้วย อะโรมาติก (Aromatic), แอลกอฮอล์ (Alcohol), คีโตน (Ketone) และอีเทอร์(Ether) เหมาะกับงานสี 2K อีพอกซี ทำละลายได้ดี ทำให้พ่นง่ายทาง่าย


ทินเนอร์แบ่งตามเกรดการใช้งานดังนี้ 

เกรดมาตรฐาน
ทินเนอร์คุณภาพมาตรฐาน ใช้งานได้อเนกประสงค์ เหมาะสําหรับเช็ดล้างทําความสะอาด เครื่องมือที่ใช้ในงานสีทําความสะอาดเครื่องจักรหรือผสมงานสีทั่วไป

 

เกรดเช็ดล้างและผสมรองพื้น
ทินเนอร์สูตรพิเศษ เหมาะสําหรับ เช็ดล้างทําความสะอาดเครื่องมือสีผสมสีรองพื้นทั่วไป แห้งเร็ว กลิ่นไม่ฉุน มีความบริสุทธิ์สูง และใช้งานได้อเนกประสงค์เหมาะสําหรับเช็ดล้างและทําความสะอาด เครื่องมือที่ใช้ในงานสี ทําความสะอาดคราบน้ํามัน หรือผสมสีทั่วไป

 

เกรดงานรถยนต์
ทินเนอร์ 2K
เหมาะสําหรับผสมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรถยนต์คุณภาพสูง เช่น สีพ่นรถยนต์ 2K, และสีพ่นรถยนต์ทั่วไปให้ความเงางามสูง เพิ่มการกระจายตัวของเนื้อสี ผิวเรียบเนียน ไม่เป็นฝ้า ดีต่อผู้ใช้ ไม่ระคายผิว ไม่แสบมือ เหมาะกับงาน คุณภาพพิเศษ

 

ทินเนอร์ อะครีลิค
เหมาะสําหรับผสม แลคเกอร์อะครีลิค หรือสีพ่นอะครีลิค ทุกประเภท ช่วยปรับความมัน ป้องกันฝ้าโดยเฉพาะในบริเวณ ที่มีความเย็นและชื้นสูง ป้องกันสีหมองคล้ำในระยะยาว เนื้อสี สวยสด เงา


ประเภทของทินเนอร์ที่มีขายในท้องตลาด
สำหรับทินเนอร์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้คือ ทินเนอร์ที่ใช้สำหรับผสมสี กับทินเนอร์ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ทินเนอร์สำหรับผสมสี

สีที่เป็นสีน้ำมัน หากนำมาใช้เลยจะไม่สามารถใช้งานได้ เพราะสีมีความหนืดมาก ถ้าเอาไปใช้ในอุปกรณ์พ่นหรือทากับชิ้นงานจะใช้งานได้ยาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะใช้งานสีประเภทนี้ จะต้องใช้ตัวทำละลายเข้ามาละลายก่อน ซึ่งชนิดของทินเนอร์ที่ใช้ในการผสมสีก็มีอยู่หลายชนิด ตามประเภทการใช้งานคือ

ทินเนอร์สำหรับเจือจางแลคเกอร์ หรือจะเรียกว่าแลคเกอร์ก็ได้ โดยคุณสมบัติคือเพิ่มคุณภาพของงานให้สวยงาม และป้องกันการเกิดลละอองบนชิ้นงาน
ทินเนอร์สำหรับเจือจางสีน้ำมันแห้งช้า นิยมใช้กับงานพ่นสี และงานแปรงที่แห้งช้า
ทินเนอร์สำหรับเจือจางอีพ็อกซี่ ใช้ทำละลายกับอีพ็อกซี่ ทำให้การพ่นและทาได้ง่ายกว่าเดิม

 

2.ทินเนอร์สำหรับทำล้างทำความสะอาดอุปกรณ์

เป็น ทินเนอร์ ราคา ที่ไม่สูงเหมือนกับทินเนอร์ที่ใช้ผสมสี คุณสมบัติหลักๆ ของทินเนอร์ประเภทนี้ก็คือจะทำละลายได้ดี ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เปื้อนจากคราบจารบี น้ำมัน เป็นต้น และน้ำยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดยังช่วยถนอมชิ้นงานไม่ให้เกิดความเสียหาย และไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนกับทินเนอร์ผสมสี

 

ทินเนอร์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ประกอบด้วยสารชนิดต่างๆ มักใช้มากทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน

  • ภาคอุตสาหกรรมใช้มากในอุตสาหกรรมสี โรงพิมพ์ ผลิตพลาสติก ผลิตสายไฟ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ตัวทำละลายสารเคมีชนิดอื่นในกระบวนการผลิต เช่น การละลาย และเจือจางสีหรือหมึกพิมพ์ เป็นต้น
  • ภาครัวเรือนใช้มากในงานประเภทสี งานไม้ อู่ซ่อมรถ โดยใช้ผสมสีเคลือบ สีทา แลกเกอร์ โดยแบ่งสีหรือสิ่งที่ต้องการผสมใส่ภาชนะ และเททินเนอร์ลงผสมพร้อมคนให้เข้ากันตามอัตราส่วนที่พอเหมาะ

 


แนะนำการใช้งานทินเนอร์
ทินเนอร์จะมีประโยชน์สูงสุดได้ก็ต่อเมื่อเราเลือกใช้ทินเนอร์ให้เหมาะสมกับงาน ด้วยเหตุนี้เองผู้ใช้ต้องเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของทินเนอร์แต่ละประเภทก่อน จึงจะเลือกใช้งานได้ และไม่ควรนำทินเนอร์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันมาใช้แทนกัน เพราะจะทำให้คุณสมบัติของสีและต่ำลง

และที่สำคัญเลยก็คือในการใช้งานทินเนอร์ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเช่น หน้ากาก ถุงมือ เพื่อป้องกันไม่สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หากสูดดมเป็นเวลานาน หรือสัมผัสบ่อยๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลของทินเนอร์ที่ใช้กันในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร หากคุณจำเป็นต้องซื้อมาใช้งานด้วยตัวเอง แนะนำว่าให้เลือก ทินเนอร์ ราคา ที่มีคุณภาพดี และเลือกให้ตรงกับลักษณะงานที่จะใช้ เท่านี้เราก็จะได้ประโยชน์จากทินเนอร์ที่ครบถ้วนแล้ว

การเลือกใช้ทินเนอร์ที่ถูกประเภทและเลือกให้เหมาะสมกับงาน จะช่วยให้งานเสร็จไวได้คุณภาพ ซึ่งผู้ผลิตสีส่วนใหญ่จะผลิตทินเนอร์ที่เหมาะกับสีประเภทนั้นออกมาจำหน่ายไปด้วยกันพร้อมให้คำแนะนำวิธีใช้อย่างถูกต้อง


 

ข้อมูลความเป็นอันตรายของทินเนอร์
1. เป็นวัตถุไวไฟ และเป็นพิษ ห้ามรับประทานหรือสูดดม ควรใช้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
2. ไอระเหยสามารถกระจายไปได้ในระยะไกล สามารถทำให้ติดไฟและเกิดระเบิดได้ ไม่ควรใช้ในสถานที่อับลม ที่มีสวิทซ์ไฟ เครื่องทำความร้อน เครื่องไฟฟ้าที่ไม่มีระบบกันการระเบิดหรือมีเปลวไฟและประกายไฟ

สารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ที่ใช้ ได้แก่ โทลูอีน (Toluene), เบนซีน (Benzene) และไซลีน (Xylene) สารเหล่านี้มีฤทธิ์กดประสาท และหลอนประสาท โดยเฉพาะโทลูอีน หากนำมาสูดดมจะทำให้รู้สึก เคลือบเคลิ้ม สนุกสนาน หากสูดดมมากจะทำให้รู้สึกมึนเมา พูดจาไม่ชัดเจน มีอาการประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

หากมีการสูดดมมาก และเป็นระยะเวลายาวนาน จะทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจถูกทำลาย หลอดเลือดฝอยแตก มีการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดความล้มเหลวของระบบหายใจตามมา

นอกจากนั้น สารประกอบไฮโดรคาร์บอนยังมีส่วนในการเกิดมะเร็งได้ด้วย รวมถึงสารประกอบในกลุ่มอื่นจำพวกคีโตน และอีเทอร์เช่นกัน

 


ข้อมูลความปลอดภัย
1. เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ, ทางเดินอาหาร, ผิวหนัง และทางตา ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง ระหว่างใช้งานควรสวมหน้ากากหรือผ้าปิดจมูก สวมถุงมือ รองเท้า และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
2. เมื่อสัมผัสกับตา ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และหากมีอาการหนักให้รีบพบแพทย์
3. กรณีมีการสูดดมหรืออยู่ในสถานที่ที่มีไอระเหยของทินเนอร์สูง ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ดังกล่าว และทำการปฐมพยาบาล
4. หากมีการกลืนกิน ห้ามทำอาเจียน และรีบนำส่งแพทย์
5. ควรปิดฝาให้แน่น เมื่อเลิกใช้งานแล้ว
6. ไม่ควรถ่ายทินเนอร์ลงในภาชนะที่ไม่มีฉลาก
7. ควรเก็บในที่มิดชิดและห่างจากมือเด็ก
8. สถานที่เก็บควรมีอุณหภูมิระหว่าง 0 ถึง 40 องศาเซลเซียส ไม่เก็บใกล้แหล่งความร้อน แสงแดด ประกายไฟ

 

อันตรายของทินเนอร์

ทินเนอร์เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

ทินเนอร์เป็นสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทาง ดังนี้

 

การสัมผัสทางร่างกายมื่อผิวหนังสัมผัสกับทินเนอร์ จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีอาการแห้ง แดง ระคายเคือง รวมทั้งอาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้หากผิวสัมผัสกับทินเนอร์บ่อยครั้ง นอกจากนี้ หากทินเนอร์กระเด็นหรือสัมผัสกับดวงตาจะทำให้เกิดอาการปวด แสบร้อน และมีน้ำตาไหล

การปฐมพยาบาลหากสูดดมทินเนอร์ 

ถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนทินเนอร์ออก และล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารนี้ด้วยน้ำเปล่าปริมาณมากหรืออาบน้ำชำระล้างร่างกาย หากมีอาการที่รุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

 


การสูดดม จะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและร่างกาย โดยทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บคอ แสบจมูก ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หมดสติ หรือเกิดภาวะเคลิ้มสุขที่นำไปสู่การเสพติดตามมา เป็นต้น

การปฐมพยาบาลหากสูดดมทินเนอร์ อย่างรุนแรง 

ออกมาจากบริเวณที่มีทินเนอร์ปนเปื้อนในอากาศ จากนั้นให้หายใจเพื่อนำเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปภายในร่างกาย หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที


การรับประทาน ผลกระทบต่อร่างกายจากการรับประทานทินเนอร์นั้นอาจคล้ายกับการสูดดม แต่ก็อาจมีอาการเฉพาะเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง แสบร้อน คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น
อันตรายจากทินเนอร์

วิธีปฐมพยาบาลหากรับประทานทินเนอร์

หากรับประทานทินเนอร์  ให้โทรเรียกหน่วยพยาบาลหรือไปห้องฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารที่ร่างกายดูดซึมได้ดี จึงอาจทำให้เกิดอันตรายได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะรอรถพยาบาลไม่ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน หากผู้ป่วยมีสติให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดและดื่มน้ำเปล่าเป็นจำนวนมาก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใด ๆ เด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักหรืออาเจียนได้

 


หากทินเนอร์กระเด็นเข้าตา

หากทินเนอร์เข้าสู่ดวงตา หรือเกิดอุบัติเหตุทินเนอร์กระเด็นเข้าตา 

การปฐมพยาบาล หากทินเนอร์เข้าสู่ดวงตา

ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจนกระทั่งอาการปวดแสบดีขึ้น ในบางกรณีอาจต้องใช้นิ้วเปิดเปลือกตาบนและล่างให้ห่างจากกัน เพื่อชะล้างสารเคมีภายในดวงตาและใต้เปลือกตาออกไป จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 

หลังจากทินเนอร์เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้ระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการเสื่อมนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ทินเนอร์อาจทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

ผลกระทบเฉียบพลัน

อาการที่พบอาจขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับ หากได้รับสารโทลูอีนในระดับต่ำถึงระดับกลางอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ แต่หากได้รับโทลูอีนในปริมาณมาก สารนี้จะออกฤทธิ์กดประสาทซึ่งอาจทำให้หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง อ่อนแรง และเสียชีวิตได้ ส่วนการรับประทานทินเนอร์อาจทำให้เกิดการอาการแน่นหน้าอก มีเลือดคั่งภายในปอด ส่งผลกดประสาทอย่างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จากการทดลองกับสัตว์ยังพบว่า โทลูอีนอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจของสัตว์ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ผลกระทบเรื้อรัง

เกิดจากการสัมผัสและสูดดมทินเนอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้สารพิษสะสมภายในร่างกายและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายลดลงจนอาจเกิดโรคหรือความผิดปกติ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและตาอักเสบ
  • เดินเซ สูญเสียความสามารถในการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • พูดติดขัด พูดไม่รู้เรื่อง
  • การมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย กระวนกระวาย สับสน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้
  • สมองฝ่อ ความจำเสื่อม
  • ส่วนการทดลองด้านผลกระทบจากทินเนอร์ในระยะยาวที่ค้นคว้าในหนูทดลองพบว่า การสูดดมทินเนอร์ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงทำให้เยื่อหุ้มโพรงจมูก ปอด แล
  • ระบบทางเดินหายใจเสื่อมและเกิดการอักเสบด้วย

 

วิธีหลีกเลี่ยงการรับสารพิษจากทินเนอร์
หากจำเป็นต้องใช้ทินเนอร์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ ควรใช้งานสารเคมีชนิดนี้อย่างระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

  • อ่านฉลากและคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้
  • สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและเหมาะสมกับงาน เพื่อป้องกันร่างกายสัมผัสกับสารเคมี
  • สวมถุงมือที่ทนทานต่อทินเนอร์ขณะใช้ผลิตภัณฑ์
  • สวมแว่นตาป้องกันทุกครั้งที่ต้องใช้ทินเนอร์ เพื่อป้องกันการระเหยหรือการกระเด็นใส่ดวงตา
  • สวมหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพทุกครั้งเมื่อต้องทำงานที่มีการใช้ทินเนอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษที่อาจสะสมในร่างกายและระบบทางเดินหายใจ
  • ห้ามสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจและการสูบบุหรี่
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากงานที่ทำต้องมีการสัมผัสกับทินเนอร์เป็นประจำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม
  • เก็บทินเนอร์ไว้ในที่ที่เหมาะสม โดยเก็บให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ระมัดระวังการทำงานที่อาจก่อให้เกิดประกายหรือเปลวไฟ เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารเคมีที่สามารถติดไฟได้
  • แบ่งเวลาพักหายใจในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ หากต้องทำงานในพื้นที่ที่มีการใช้สารระเหย

แชร์ให้เพื่อน